การจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ จำกัด

        สหกรณ์เริ่มต้นในทวีปยุโรปในช่วงศตวรรษที่ 18 ซึ่งในช่วงนั้นเกิดการปฏิวัติระบบอุตสาหกรรม มีการนำเครื่องไม้เครื่องมือและเครื่องจักรมาใช้ทดแทนแรงงานคน รัฐบาลเปิดโอกาสให้ธุรกิจแข่งขันกันอย่างเต็มที่ เป็นผลทำให้ธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากต้องล้มเลิกกิจการ เกิดการว่างงาน แรงงานล้นตลาด กรรมกรต้องถูกกดขี่ด้วยการให้ทำงานหนัก แลกกับค่าจ้างแสนถูก ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาสูง บุคคลเหล่านี้เห็นว่า การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่สามารถทำได้ตามลำพังตนเอง แต่ต้องร่วมมือกัน จึงได้รวมตัวกันจัดตั้งองค์กรของตนเองขึ้น เรียกว่า “สหกรณ์” โดยการลงทุนร่วมกันคนละเล็กคนละน้อย แล้วให้สหกรณ์จัดหาสินค้าหรือบริการที่สมาชิก หรือผู้ร่วมลงทุนต้องการมาบริการในราคายุติธรรม ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันไม่ว่าจะลงทุนมากหรือน้อย สหกรณ์ในระยะแรกนี้ จะมีประเภทร้านสหกรณ์ที่จัดหาสินค้ามาจำหน่ายให้แก่สมาชิกสหกรณ์ผู้ผลิต หรือสหกรณ์คนงาน ซึ่งเกิดจากคนงานรวมกันจัดตั้งขึ้น เพื่อให้สหกรณ์หางานมาจ้างพวกตนทำงาน และประเภทที่ 3 คือ สหกรณ์เครดิตในเมือง ซึ่งเป็นสหกรณ์ที่ส่งเสริมการออมทรัพย์ในหมู่สมาชิก และจัดหาเงินมาให้สมาชิกที่มีความเดือดร้อนกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ

        ในขณะเดียวกันชาวชนบทก็เผชิญปัญหาต่าง ๆ รอบด้านเช่นกัน นับตั้งแต่ปัญหาขาดแคลนเงินทุน ปัจจัยการผลิตมีราคาสูงขณะที่ผลผลิตมีราคาต่ำ ทำให้ปัญหาความเป็นอยู่ของชาวชนบทตกต่ำลงเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงร่วมใจกันจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของตนเอง และชุมชนให้ดีขึ้น สหกรณ์ในชนบทนี้มีหลายประเภท เช่น สหกรณ์การขาย จะเป็นการรวบรวมผลผลิตของสมาชิกออกจำหน่ายในท้องตลาด สหกรณ์การซื้อ จะเป็นสหกรณ์ที่จัดหาปัจจัยการผลิตต่าง ๆ รวมถึงสินค้าที่จำเป็นต่อการบริโภคมาจำหน่ายให้สมาชิก สหกรณ์การแปรรูป ซึ่งรวบรวมแปรรูปและจำหน่ายผลผลิตของสมาชิก และสุดท้ายประเภท สหกรณ์เครดิตในชนบท ซึ่งจะคล้ายกับสหกรณ์เครดิตในเมือง

        สหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้นในระยะนี้ไม่ว่าจะเป็นสหกรณ์ในเมืองหรือในชนบทต่างได้แสดงบทบาทอย่างเด่นชัด ในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของสมาชิกและพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของสมาชิกให้ดีขึ้น ดังนั้น แนวความคิดและวิธีการดำเนินงานแบบสหกรณ์นี้ จึงเป็นที่นิยมและถูกนำไปปรับใช้ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

        สำหรับการสหกรณ์ในประเทศไทย เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งระบบเศรษฐกิจชนบทได้เปลี่ยนจากระบบการผลิตเพื่อเลี้ยงตนเอง เป็นระบบเศรษฐกิจเพื่อการค้า ความต้องการเงินทุนเพื่อขยายการผลิตเริ่มมากขึ้น จนเงินทุนเริ่มไม่เพียงพอ เกิดการกู้ยืมจากนายทุนในอัตราดอกเบี้ยที่สูง ทางราชการในสมัยนั้น จึงต้องคิดหาวิธีการช่วยเหลือด้วยการจัดหาเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยต่ำ จากแนวคิดดังกล่าว พระราชวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย จึงทดลองจัดตั้งสหกรณ์เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2459 ที่จังหวัดพิษณุโลก ใช้ชื่อว่า “สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้” และสหกรณ์นี้ต่อมาได้พิสูจน์ให้เห็นว่าวิธีการของสหกรณ์สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาความเดือดร้อนได้ จึงได้มีการเผยแพร่การจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ปัจจุบันสหกรณ์จำแนกเป็น 7 ประเภท คือ “สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ประมง สหกรณ์นิคม สหกรณ์บริการ สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน” และสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งแรกของประเทศไทย คือ “สหกรณ์ข้าราชการสหกรณ์ จำกัด”

        สหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ จำกัด ได้จัดตั้งขึ้นตามคำเรียกร้องของข้าราชการและลูกจ้างประจำ สังกัดกรมต่าง ๆ ในกระทรวงศึกษาธิการ (เว้นกรมสามัญศึกษา ซึ่งได้จัดตั้งสหกรณ์ของตนเองไปก่อนแล้ว) นายสมาน แสงมลิ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการจึงได้เชิญผู้แทนกรมต่าง ๆ มาประชุมปรึกษาหารือ และได้ขออนุมัติปลัดกระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการขึ้น เมื่อได้รับอนุมัติแล้วจึงได้ทำหนังสือเชิญชวนไปยังกรมต่าง ๆ ปรากฏว่ามีข้าราชการและลูกจ้างประจำสมัครเข้าเป็นสมาชิกถึง 656 คน ทุนเรือนหุ้น 83,540 บาท (แปดหมื่นสามพันห้าร้อยสี่สิบบาทถ้วน)  สมาชิกแรกตั้งเหล่านี้ถือว่าเป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ ฯ โดยไม่ต้องมีสมาชิกรับรอง ไม่ต้องตรวจสอบคุณสมบัติ และเสนอที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์พิจารณาอนุมัติ เช่นผู้ที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่ในปัจจุบัน

“ช่วยออมช่วยประหยัด ด้วยซื่อสัตย์และโปร่งใส สามัคคีมีน้ำใจ ยึดมั่นใน สอ.ศธ.”